วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก




อ.พญ.เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล
       ภาควิชาตจวิทยา
       
       **** ไถ่ถามกันเข้ามาถึงแมลงก้นกระดก ว่า ถ้าพบจะทำอย่างไรดี มีคำตอบให้ค่ะ ****
   แมลงก้นกระดก (Paederus fuscipes) หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “แมลงน้ำกรด” เป็นแมลงขนาดเล็กประมาณ 7-8 มม.ส่วนหัวมีสีดำ ปีกน้ำเงินเข้มขนาดเล็ก และส่วนท้องมีสีส้ม แมลงชนิดนี้มักจะงอส่วนท้ายเมื่อเกาะอยู่กับพื้น จึงมักเรียกว่า “แมลงก้นกระดก” จัดอยู่ใน Genus Paederus, Family Staphylinidae, Order Coleoptera พบกระจายทั่วโลกมากกว่า 600 สปีชีส์ โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น มักอาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน โดยเฉพาะจะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน
       
       แมลงชนิดนี้จะปล่อยสาร Pederin ออกมาทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัสโดน โดยความรุนแรงจะขึ้นกับความเข้มข้นของสาร Pederin ที่สัมผัสโดน ซึ่งอาการจะยังไม่เกิดทันทีที่สัมผัส แต่จะเริ่มเกิดผื่นและอาการแสบ เมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง หลังการสัมผัส ต่อมาจะเกิดเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน หรือรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาว อันเกิดจากการปัดด้วยมือ บางรายจะเกิดผื่นที่บริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน ร่วมกับตุ่มน้ำพองและตุ่มหนองใน 2-3 วัน ต่อมาผื่นหรือแผลจะตกสะเก็ดและหายเองภายใน 7-10 วัน เมื่อหายแล้วอาจทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง แต่มักไม่เกิดแผลเป็น นอกจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่บริเวณผื่นเดิม ทำให้ผื่นหายช้าลงและอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดแผลเป็นหลังจากผื่นหายแล้วได้ สำหรับในรายที่ผื่นเป็นบริเวณกว้าง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ ในบางรายที่มีผื่นที่ใบหน้าและลำคอ อาจเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูสวัดได้ ซึ่งแตกต่างกันที่ผื่นจากแมลงก้นกระดกจะไม่มีอาการปวดร้าวตามแนวเส้นประสาทบริเวณตำแหน่งที่เกิดผื่น
       
       เมื่อสัมผัสถูกตัว “แมลงก้นกระดก” แล้ว ให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดนแมลง สังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อย สามารถหายเองได้ใน 2-3 วัน ไม่จำเป็นต้องทายาใด แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้น ให้ทาครีมสเตียรอยด์ หรือหากมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้างหรือแผลไหม้ ควรทำการประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้ง จนแผลแห้ง ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมและยาแอนติฮิสตามีนเพื่อบรรเทาอาการคัน
       
       สำหรับคำแนะนำในการป้องกัน “แมลงก้นกระดก” คือ ไม่ควรจับตัวแมลงมาเล่น หลีกเลี่ยงการปัดหรือบีบตัวแมลงที่มาเกาะตามตัว ควรใช้วิธีเป่าแมลงให้หลุดออกไปเองโดยไม่ต้องจับโดนตัว ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ก่อนเพื่อป้องกัน รวมทั้งควรปิดประตูตู้เสื้อผ้า ประตูและหน้าต่างห้องนอนให้มิดชิดทั้งกลางวันและกลางคืน ในช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะควรปิดไฟห้องนอน เพราะ “แมลงก้นกระดก” มักชอบออกมาเล่นแสงไฟตามบ้านเรือน
       
       -----------------------------------------------------------
       
       พบกับกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
       
       • เชิญชวนประชาชนร่วมงานสัปดาห์เภสัชกรรม ครั้งที่ 13 พบ กิจกรรมหลากหลาย อาทิ สาธิตการทำอาหารเพื่อสุขภาพ การบรรยายใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัยและถูกวิธี ฯลฯ ระหว่างวันที่ 25-29 มิ.ย.2555 เวลา 09.00-16.00 น.ณ โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช
       
       • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ขอเชิญ
       แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 150 ปี พระราชสมภพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ภายใต้แนวคิด “จากพระราชดำริ สู่สุขภาวะสังคมไทย ด้วยการดูแลเชิงสหสาขาวิชา” ระหว่างวันที่ 17-21 ก.ย.2555 ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม/สมัครผ่าน www.sirirajconference.com และสอบถามได้ที่ โทร.0 2419 7680-1, 08 5111 0728


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 20 มิถุนายน 2555 01:55 น.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น