This is default featured slide 1 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 2 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 3 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 4 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 5 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อภ.แนะวิธีรับประทานยาเมื่อเป็น โรคกรดไหลย้อน

ภาพประกอบจาก Internet
แนะวิธีรับประทานยาเมื่อเป็น “โรคกรดไหลย้อน” อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกัน ควรรักษาสุขภาพ ไม่รับประทานอาหารในแต่ละมื้อมากเกินไป หรืออิ่มแล้วนอน งดของทอด รสจัด เลี่ยงน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม สูบบุหรี่ ดื่มสุรา 
       นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่เกิดจากภาวะน้ำย่อยในกระเพาะมีฤทธิ์เป็นกรด จะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้มีการระคายเคืองบริเวณลำคอ หรือว่าแสบยอดอก จุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งบางรายอาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ร่วมด้วย อาการคล้ายๆ กับโรคกระเพาะ ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นโรคกระเพาะ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพยาธิสภาพ คือ การทำงานของหูรูดอาหารส่วนล่างที่ต่อจากกระเพาะอาหารมีความผิดปกติ มีลักษณะหย่อนลงไป อาจเกิดเนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของหูรูดหย่อนไป ส่งผลให้กรดจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร บางรายอาจเกิดจากระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือมีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือบางรายเกิดจากโรคไส้เลื่อน กระบังลมหย่อน ทำให้เกิดภาวะโรคนี้ขึ้นได้
      
ภาพประกอบจาก Internet
        สำหรับอาการของโรคกรดไหลย้อน ตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วจะมีภาวะเรอเปรี้ยว กรดมีลักษณะขม ทำให้ปากหรือคอรู้สึกขมในบางราย บางรายอาจมีอาการไอเรื้อรัง หรืออาจมีอาการหอบหืดมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากอาการกรดไหลย้อนได้ หากมีอาการดังกล่าวแต่ไม่มาก ควรดูแลพฤติกรรมการบริโภค คือ ไม่ให้รับประทานอาหารในแต่ละมื้อมากเกินไป ไม่รับประทานอาหารทอด อาหารรสจัด หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และไม่รับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้วนอนเลย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อนได้มาก ควรจะเว้นระยะอย่างน้อย 3 ชั่วโมงจึงจะเข้านอน ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ รักษาระดับน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนจนเกินไป พักผ่อนมากๆ ไม่ให้เครียด หลีกเลี่ยงการรับประทานชา กาแฟ การดื่มสุรา หรือหากมีอาการจุด แสบยอดอก หรือเสียดท้อง เมื่อมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
     ผอ.อภ.ได้กล่าวถึงยาที่ใช้ในการรักษาโรคกรดไหลย้อน ว่า ยากลุ่มหลักๆ ได้แก่ ยายับยั้งกลุ่มโปรตอนปั๊ม หรือโปรตอนปั๊มอีดิเตอร์ ยาที่ใช้รักษาภาวะกรดไหลย้อนได้ดีที่สุดชื่อโอเมทโทรโซน ขนาด 20 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1-2 ครั้ง ตามแต่อาการของโรค รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ หรืออาจใช้เวลามากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยที่มีภาวะกรดไหลย้อนมากหรือเป็นมานานอาจต้องปรับเวลาในการรับประทานเป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับอาการที่มี หรืออาจต้องทานต่อเนื่องมากกว่านั้น
      นอกจากยาในกลุ่มนี้แล้ว ยังมียาอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ยาเม็ดโทรโพทามาย หรือดอมพาลิโดน ซึ่งยาทั้งสองชนิดนี้ จะต้องรับประทานวันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร ½ ชั่วโมง และทานร่วมกับยากลุ่มโปรตอนปั๊ม จะใช้ได้กับยา 2 กลุ่ม ซึ่งจะต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ แม้จะไม่มีอาการแล้ว เนื่องจากโรคนี้มีสาเหตุมาจากพยาธิสภาพที่หลอดอาหาร ไม่เหมือนกับภาวะที่ท้องอืดธรรมดา หรืออาหารไม่ย่อยซึ่งภาวะเช่นนี้เราทานยาตามอาการได้ แต่โรคกรดไหลย้อนเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะภายในด้วย ถ้าไปพบแพทย์ก็ต้องไปตามที่แพทย์นัด ทานยาให้ต่อเนื่องไม่เช่นนั้นโรคอาจกลับมาเป็นใหม่ หรือนำไปสู่ภาวะความเสี่ยงอื่นๆ...


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th

วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กรดยูริกสูง เสี่ยงสารพัดโรค

กรดยูริกเป็นของเสียที่ร่างกายต้องขับออกทางปัสสาวะ เกิดจากการแตกสลายของเซลล์ ซึ่งภายในนิวเคลียสของเซลล์จะมีดีเอ็นเอ และภายนอกนิวเครียสจะมีอาร์เอ็นเอ
       
       สารทั้ง 2 นี้ จะถูกสลายเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อนำไปสร้างเซลล์ของเนื้อเยื่อใหม่ แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ใหญ่วัย 40 ปีขึ้นไป ร่างกายจะมีการสร้างเซลล์หรือเนื้อเยื่อใหม่น้อยลง ส่วนประกอบเล็กๆ เหล่านี้จึงถูกสลายเป็นกรดยูริก ซึ่งถ้าขับถ่ายออกไม่ทันก็จะทำให้กรดยูริกในเลือดเพิ่มสูงได้ง่าย
       
       เห็นได้ชัดเมื่อเจาะเลือด ค่าของกรดยูริกจะมากกว่า 7 มก./ดล.ซึ่งคนไข้บางรายอาจมีอาการปวดข้อปวดกระดูก ในเบื้องต้นแพทย์ส่วนใหญ่มักให้ยาลดระดับกรดยูริกลง โดยแนะนำให้ควบคุมการรับประทานอาหารประเภทสัตว์ปีก เช่น เนื้อไก่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง หากแต่การรับประทานหนังสัตว์และเครื่องในสัตว์ต่างๆ จะทำให้เกิดกรดยูริกและโคเลสเตอรอลในเลือดสูง
       
       ว่ากันว่า การที่มีกรดยูริกในเลือดสูงโดยไม่มีอาการ ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน หรือเรียกว่า “โรคเกาต์” เพศชายเริ่มเป็นเมื่ออายุ 40 ปี ส่วนเพศหญิงมักจะเริ่มเป็นอายุ 55 ปี ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะกลับเป็นข้ออักเสบซ้ำๆ และมีการสะสมของกรดยูริกตามข้อ จนทำให้เกิดเป็นปุ่มเป็นก้อนขึ้นที่ผิวหนัง ระยะนี้เรียกว่า “โรคเกาต์ ระยะมีโทไพเรื้อรัง”
       
       ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ความรู้เรื่องกรดยูริกเปลี่ยนไปมาก รวมทั้งในวงการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์พบว่ากรดยูริกที่เพิ่มสูงขึ้นในเลือด อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตส หรือน้ำตาลซูโครส (น้ำตาลทราย) มากเกินไป ซึ่งกลไกนี้ช่วยไขคำตอบคนไข้จำนวนมากที่พยายามควบคุมการรับประทานเครื่องในสัตว์และหนังสัตว์ แต่เมื่อตรวจเลือดกลับมีค่ากรดยูริกในเลือดสูงอยู่
       


       น้ำตาลฟรุกโตส หรือน้ำตาลซูโครส ซึ่งมีน้ำตาลฟรุกโตสเป็นส่วนประกอบนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสลายน้ำตาลฟรุกโตส โดยหน่วยพลังงานในเซลล์ที่เรียกว่า ATP แล้วจะเกิดเป็น ADP
       
       ปกติ ADP มักถูกนำไปสร้างเป็นหน่วยพลังงาน ATP ใหม่ แต่การมีน้ำตาลฟรุกโตสมากเกินไป จะไปหยุดยั้งการสร้างหน่วยพลังงาน ATP ทำให้ ADP ถูกสลายลงเป็นกรดยูริก
       
       จะเห็นได้ว่ากรดยูริกนี้เกิดจากการสลายของ ATP ซึ่งคือแหล่งให้พลังงานในเซลล์ ทำให้เซลล์นั้นทำงานไม่ดีและแก่ตัวเร็ว และยังเพิ่มกรดยูริกในเลือดอีกด้วย
       
       จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ค้นพบว่า กรดยูริกในเลือดที่สูงขึ้นนี้ จะทำให้หลอดเลือดแดงที่เข้าสู่ไตมีภาวะหนาตัวขึ้น ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ประกอบกับการรับประทานน้ำตาลฟรุกโตสมาก ทำให้ร่างกายมีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้น ซึ่งจะเร่งให้เกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ง่าย และเมื่อปล่อยให้เนิ่นนานไป จะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโตกว่าปกติ จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง เมื่อร่วมกับเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบตันจากการมีไขมันในเลือดสูง และเป็นเบาหวาน จึงมีโอกาสที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ง่าย
       
       เมื่อพบว่ากรดยูริกในเลือดสูงให้ผลเสียเช่นนี้ ขอแนะนำให้รักษาทันทีที่ตรวจพบโดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการปวดเข่าหรือข้อ ด้วยการรับประทานยาเพื่อลดกรดยูริก ควบคุมอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ รวมทั้งควบคุมน้ำตาลฟรุกโตสที่อยู่ในรูปของน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ผลไม้ และน้ำตาลทราย แล้วดื่มน้ำให้เพียงพอในการขับกรดยูริกออกทางไต ตลอดจนหมั่นตรวจเช็คเลือดเพื่อหาค่ากรดยูริกในอีก 3 เดือนข้างหน้า
       
       ซึ่งหากคุณสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น ค่ากรดยูริกในเลือดมักจะกลับมาเป็นปกติ
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ หัวหน้าหน่วยโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th

ออกกำลังกายแบบนี้ สุขภาพดี ไม่มีแย่



การมีสุขภาพดี เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เราจึงเห็นว่าหลายต่อหลายคนต่างหันมาทำทุกอย่าง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง บ้างก็ออกกำลังกาย กินอาหารเสริม ควบคุมอาหาร แต่ถึงอย่างไร วิธีที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นการออกกำลังกายนั่นเอง
       
       แต่ทราบหรือไม่ ศาสตร์และศิลป์ของการออกกำลังกายอย่างได้คุณค่า ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามนะครับ เริ่มตั้งแต่...
       
       เตรียมความพร้อมของร่างกาย
       
       การเดิน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการออกกำลังกาย เพราะไม่ทำให้เหนื่อยมาก และยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย นอกจากนี้โอกาสเสี่ยงต่ออาการปวดข้อก็ไม่มากนัก เหมาะสำหรับคนอ้วน หรือผู้ที่เริ่มออกกำลังกาย
       
       ส่วนการวิ่ง เป็นการออกกำลังกายสำหรับผู้ที่เตรียมร่างกายไว้พร้อมแล้ว เพราะหัวใจจะเต้นเร็ว ทำให้เหนื่อย เหมาะสำหรับท่านที่ต้องการเพิ่มความฟิตของร่างกายให้มากขึ้น
       
       การเตรียมตัวก่อนออกกำลังกาย
       
       อุ่นร่างกายให้พร้อม ขั้นตอนนี้สำคัญมาก อาจจะใช้วิธีเดินภายในบ้าน รอบบ้าน หรือเดินบนสายพาน ประมาณ 5 -10 นาที จะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้มากขึ้น หัวใจและหลอดเลือดมีการเตรียมความพร้อมมากขึ้น เป็นการป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้ดีเชียวครับ
       
       ปลอดภัยแน่ถ้าออกกำลังกายแบบนี้
       
       เมื่อคุณมีความพร้อมของร่ายกายจากการออกกำลังกาย จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันแล้ว หากต้องการเพิ่มความฟิตร่างกายก็สามารถกระทำได้ โดยการเลือกประเภทกีฬาที่ชอบและสะดวกที่สุด แต่สำหรับผู้ที่มีอายุ 45 ปี ขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการเลือกวิธีการออกกำลังกาย
       
       ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ไม่ควรหักโหมมากในครั้งแรกๆ แต่ควรทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำเป็นครั้งคราวแต่หักโหม และไม่ควรกลั้นหายใจหรือสูดลมหายใจอย่างแรง ควรหายใจเข้าและออกยาวๆ เพื่อช่วยระบบการหายใจของร่างกาย และขณะออกกำลังกายคุณยังสามารถสังเกตอาการขณะออกกำลังกายว่าทำมากไปหรือไม่ เช่น หัวใจเต้นเร็วมากจนรู้สึกเหนื่อย หายใจเหนื่อยจนพูดไม่เป็นประโยค เหนื่อยจนเป็นลม
       
       หากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดออกกำลังกายประมาณ 2 วัน และลดระดับการออกกำลังกายลงในครั้งต่อไป
       
       ออกกำลังกายเสร็จแล้วควรทำอะไร
       
       เมื่อออกกำลังกายแล้ว อย่าหยุดในทันที เพราะหัวใจยังเต้นเร็วมาก จะปรับตัวให้เต้นช้าลงไม่ทัน ให้วิ่งช้าๆ หรือเดินต่อไปสักพัก จนกระทั่งชีพจรกลับคืนสู่สภาพใกล้เคียงปกติ และควรดื่มน้ำให้เพียงพอภายหลังออกกำลังกาย
       
       ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
       
       มากจริง ๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็น
       
       • ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดี สามารถไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้มากขึ้น ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง มีภูมิต้านทานของร่างกายดีขึ้น และป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน
       
       • ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก การทรงตัวดีขึ้น และทำให้การเคลื่อนไหวคล่องแคล่วขึ้น
       
       • ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น
       
       • ช่วยลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และช่วยให้นอนหลับสบาย
       
       อย่าลืมนะครับ หากคุณต้องการให้ร่างกายแข็งแรงทุกสัดส่วน ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 20 – 30 นาที สัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง ก็เพียงพอที่จะเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี ผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้อารมณ์ดี และช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th

ปรับเปลี่ยนชีวิต พิชิตความดันโลหิตสูง




ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว โรคไตวาย และโรคอัมพาต ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการจนกว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ การตรวจวัดความดันสม่ำเสมอจะช่วยวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก และการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ถึงเกณฑ์ปกติ ตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยจะช่วยให้ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
       
       • จะทำอย่างไร..เมื่อรู้ว่า
       เป็นโรคความดันโลหิตสูง
       
       การรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่เริ่มเป็น หรือระดับความดันโลหิตยังสูงไม่มาก จะเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ความดันโลหิตกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ (ความดันโลหิตไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท) โดยไม่ต้องอาศัยการรับประทานยา
       
       • หลักการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
       เพื่อความดันโลหิตสูง
       
       1. ลดน้ำหนัก : ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่น้ำหนักเกิน หรืออ้วน การลดน้ำหนักลงจะได้ประโยชน์ในการลดความดันโลหิตมาก การลดน้ำหนักลง 10 กิโลกรัม จะลดความดันโลหิตได้ 5-20 มิลลิเมตรปรอท ความจริงแล้วผลดีอื่นๆ ที่ได้จากการลดน้ำหนักมีมากกว่าการลดความดันโลหิต เช่น ป้องกันการเกิดเบาหวาน ภาวะหัวใจล้มเหลว ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ควรควบคุมไม่ให้ดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 25 กก./ตรม.
       
       ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว(กิโลกรัม)/ส่วนสูง(เมตร)
       
       2. หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม : เมื่อได้รับ “เกลือ” หรืออาหารรสเค็มต่างๆ ร่างกายจะดูดน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น เป็นผลให้ปริมาณสารน้ำในร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้นและควบคุมได้ยาก ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรส เค็ม โดยไม่เติมเกลือ น้ำปลา หรือซีอิ๊วในอาหารอีก นอกจากนั้น ควรงดผงชูรส หรืออาหารที่มีผงชูรสอยู่มากด้วย เนื่องจากผงชูรสมีเกลือโซเดียมเช่นกัน
       
       ไม่แนะนำให้ใช้เกลือเทียม เช่น เกลือโปแตสเซียมแทนเกลือแกง เนื่องจากเป็นอันตรายได้ในผู้ที่มีไตเสื่อม อาหารที่แนะนำควรเป็นอาหารที่พลังงานต่ำ และมีไขมันจากสัตว์น้อย เพิ่มการรับประทานปลาแทนเนื้อหรือหมู และหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงต่างๆ ขนมหวาน เน้นผักและผลไม้ที่ไม่หวานจัดแทน
       
       3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็วๆ วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ครั้งละ 20-30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตลงบ้างแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ควบคุมน้ำหนักได้ง่าย โคเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้น จิตแจ่มใส
       
       สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมาก หรือผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย ถ้าไม่สามารถจัดเวลาเพื่อออกกำลังกายได้ แนะนำให้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำอยู่แล้ว เช่น ใช้การเดินขึ้นบันไดแทนลิฟท์ เดินไปตลาดหรือทำงานบ้านด้วยตนเอง
       
       4. งดบุหรี่ : การสูบบุหรี่มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วขณะ แม้ว่าการเลิกบุหรี่อาจไม่มีผลลดความดันโลหิตในระยะยาว แต่ไม่สูบบุหรี่จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจ ถุงลมโป่งพอง มะเร็งอีกหลายชนิด และยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของคนใกล้ชิดอีกด้วย
       
       5. ลดแอลกอฮอล์ : แม้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยๆ อาจช่วยเพิ่มไขมันโคเลสเตอรอลชนิดดีได้บ้าง แต่ไม่แนะนำให้ดื่ม เนื่องจากผลเสียของการดื่มแอลกอฮอล์มีมากกว่าผลดี อย่าเชื่อโฆษณาที่แนะนำให้ดื่มไวน์เพื่อสุขภาพ หากท่านดื่มอยู่แล้ว ก็ควรจำกัดปริมาณให้น้อยกว่าวันละ 2 แก้ว
       
       การเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิต และลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ การรักษาโรคโดยใช้ยาเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอหลังจากที่ทราบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย ศูนย์ควบคุมสุขภาพกรุงเทพ)


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:  
www.manager.co.th



กินแบบไหน โรคภัยถามหา




อาหารและน้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย และการสร้างเลือดและลมปราณ ม้าม และกระเพาะอาหาร ควบคุมการย่อยและดูดซึมอาหาร ความผิดปกติจากการรับประทานอาหารและน้ำ เช่น รับประทานอาหารไม่พอดี อาหารปนเปื้อน เลือกรับประทานอาหารมากเกินไป มักมีผลต่อการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร ดังนี้
       
       1. การรับประทานอาหารไม่ดีพอ รับประทานอาหารน้อยเกินไปหรือมากเกินไป ก็ทำให้ร่างกายผิดปกติ ถ้ารับประทานอาหารน้อยเกินไปจะขาดสารอาหาร ทำให้เลือดและลมปราณพร่อง เพราะสร้างไม่เพียงพอ ร่างการซูบผอม ความต้านทานโรคต่ำ เจ็บป่วยบ่อย ถ้ารับประทานอาหารมากเกินไป หรือรับประทานอาหารเร็วเกินไป อาหารย่อยและดูดซึมไม่ทัน อาหารไม่ย่อย มีอาการท้องอืด เรอบูดเปรี้ยว อาเจียน ท้องเดิน
       
       ความผิดปกติจากการรับประทานอาหารไม่พอดี พบมากในเด็กที่ระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์ ถ้าอาหารไม่ย่อยเป็นเวลานาน สามารถเปลี่ยนเป็นความร้อนและความชื้น มีอาการร้อนตามฝ่ามือฝ่าเท้าและหน้าอก หงุดหงิด ร้องไห้งอแง ท้องอืด หน้าเหลือง กล้ามเนื้อลีบ เรียกว่า โรคตานขโมย
       
       ถ้าผู้ใหญ่ชอบรับประทานอาหารมากเกินไปเป็นเวลานาน ทำให้การไหลเวียนเลือดและลมปราณของกระเพาะอาหารและลำไส้ติดขัด ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นริดสีดวงทวาร ถ้ารับประทานอาหารหวานมัน รสจัดมากเกินไป มักจะเปลี่ยนเป็นความร้อนในร่างกาย ทำให้เกิดแผล ฝีตามผิวหนัง
       
       การรับประทานอาหารไม่พอดี อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากโรคที่เกิดจากความร้อน ม้ามและกระเพาะอาหารย่อยยาก อาหารไม่ย่อยเปลี่ยนเป็นความร้อนสะสม รวมตัวกับความร้อนของเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่ ทำให้โรคกลับมาเป็นใหม่ หรือเป็นๆหายๆ ไม่หายขาด
       
       2. การรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ถ้ารับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้ป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเดิน
       
       3. การเลือกรับประทานอาหารมากเกินไป การเลือกรับประทานอาหารบางชนิดบางรสชาติมากเกินไป อาจทำให้เกิดโรคขาดสารอาหาร หรือชอบรับประทานอาหารร้อนหรือเย็นเกินไป ทำให้ร่างกายเสียสมดุลหยิน-หยาง
       
       ถ้าชอบรับประทานอาหารสดเย็น ความเย็นจะไปทำลายลมปราณหยางของม้ามและกระเพาะ อาหาร เกิดความเย็นชื้นภายในร่างกาย มีอาการปวดท้อง ท้องเดิน
       
       ถ้าชอบรับประทานอาหารเผ็ดร้อนแห้ง จะเกิดความร้อนคั่งในกระเพาะอาหารและลำไส้ มีอาการคอแห้ง ท้องอืด ปวดท้อง ท้องผูก ถ้าเรื้อรังอาจทำให้เป็นริดสีดวงทวารหนัก
       
       ถ้าเลือกรับประทานอาหารมากเกินไป ร่างกายอาจได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เกิดโรคขาดอาหาร เช่น โรคเหน็บชาเพราะขาดวิตามินบีหนึ่ง โรคตาบอดกลางคืนเพราะขาดวิตามินเอ โรคคอหอยพอกเพราะขาดไอโอดีน เป็นต้น
       
       อาหารมี 5 รสชาติหลัก ซึ่งมีสัมพันธ์กับอวัยวะต้นทั้ง 5 คือ รสเปรี้ยวเข้าสู่ตับ รสขมเข้าสู่หัวใจ รสหวานเข้าสู่ม้าม รสเผ็ดเข้าสู่ปอด รสเค็มเข้าสู่ไต ร่างกายจำเป็นต้องได้รับอาหารครบ 5 รสชาติ เพื่อให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ ถ้าชอบรับประทานอาหารบางรสชาติมากเกินไปเป็นเวลานาน อาจเกิดความผิดปกติของอวัยวะภายใน เช่น
       
       • รับประทานอาหารเค็มมากเกินไป เลือดจะไหลเวียนติดขัด ใบหน้าไม่สดใส
       
       • รับประทานอาหารขมมากเกินไป ทำให้ผิวแห้ง ผมร่วง
       
       • รับประทานอาหารเผ็ดมากเกินไป ทำให้เส้นเลือดและเอ็นหดเกร็ง เส้นหยาบแข็ง
       
       • รับประทานอาหารเปรี้ยวมากเกินไป ทำให้ผิวแห้งและกล้ามเนื้อหนาหยาบแห้ง รืมฝีปากแห้ง
       
       • รับประทานอาหารหวานมากเกินไป ทำให้ปวดกระดูก ผมร่วง
       
       ในภาวะปกติควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ทุกรสชาติ ถ้าเจ็บป่วยควรรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับโรค จะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น
       
       (ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือศาสตร์
       การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น)
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th

รอบรู้โรคภัย วูบ เดียว อาจถึงตาย...




โรควูบคือ อาการเป็นลมเกือบหมดสติ หรือบางรายหมดสติไป การเป็นลมหมดสติ มีตั้งแต่เป็นลมธรรมดา จนถึงเป็นลมเนื่องจากความผิดปกติขั้นรุนแรงของหัวใจ
       
       • อาการ
       
       อาการวูบหรือการเป็นลมหมดสติ เป็นอาการที่พบบ่อย เป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียความรู้สึกตัวและแรงของกล้ามเนื้อชั่วคราว อันเป็นผลมาจากเลือดไปเลี้ยงก้านประสาทสมองลดลง ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องจากปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจและแรงต้านทานของหลอดเลือดทั่วร่างกาย อาการวูบนี้มักจะฟื้นกลับเป็นปกติได้เอง และอาจเป็นซ้ำได้อีก
       
       จากการสำรวจในต่างประเทศพบว่าเกือบ 10% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา และผู้ใหญ่กว่า 50% ต่างเคยมีอาการวูบมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง
       
       ผู้ป่วยโรควูบหมดสติที่หาสาเหตุไม่ได้ มีอัตราเสียชีวิตในปีแรกที่เป็น สูงถึง 6% โดย 4% เสียชีวิตแบบเฉียบพลัน แต่หากมีสาเหตุจากโรคหัวใจ อัตราเสียชีวิตในปีแรกที่เป็นจะสูงถึง 18 - 33% โดยที่ 24% เป็นการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน
       
       สำหรับคนที่ปฏิบัติวิชาชีพ เช่น พนักงานขับรถ นักบิน กรรมกรก่อสร้าง หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ยิ่งมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตหลังจากอาการวูบได้สูงขึ้น
       
       โรควูบแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการวูบจากภาวะโลหิตต่ำชั่วคราว แต่ไม่ใช่อาการโรคหัวใจ หรือเรียกง่ายๆ ว่า อาการเป็นลมทั่วไป เนื่องจากร่างกายทนกับสภาพแวดล้อมไม่ได้ โดยมีสาเหตุจากความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ยืนหรือนั่งนานเกินไป ส่วนอีกกลุ่มคือ อาการวูบจากโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ การอุดตันของเส้นเลือด
       
       • สาเหตุ
       
       สาเหตุของการเป็นลมเกือบหมดสติหรือหมดสติ มีหลายสาเหตุ ดังนี้
       
       1. ภาวะตกใจหรือเสียใจรุนแรง
       
       2. ไอหรือจามแรงมากเกินไป
       
       3. ขณะยืนถ่ายปัสสาวะ หรือหลังถ่ายปัสสาวะ หลังจากที่กลั้นมานาน
       
       4. ออกกำลังกายมากเกินไป
       
       5. หลังอาหารมื้อหนัก
       
       6. เส้นประสาทสมองที่ 5,9 อักเสบ
       
       7. เป็นโรคสมองเสื่อมหรือสมองฝ่อ
       
       8. โรคพาร์คินสัน บางรายที่มีระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติร่วมอยู่ด้วย
       
       9. โรคเบาหวาน ในรายที่เส้นประสาทโดนทำลายจากเบาหวาน
       
       10. จากยาบางชนิดเช่น รับประทานยาลดความดันมากเกินไป
       
       11. ดื่มสุรามากเกินไป
       
       12. จุดกำเนิดไฟฟ้าของหัวใจเสื่อมสภาพ
       
       13. เสียเลือดมาก หรือเสียน้ำออกจากร่ายกายมากเกินไป เช่น ท้องร่วงรุนแรง อาเจียนรุนแรง
       
       14. มีการกระตุ้นในระบบทางเดินอาหาร เช่น ล้วงคอ อาเจียน เบ่งถ่ายอุจจาระ ปวดท้องรุนแรง
       
       15. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง
       
       16. ระบบทางเดินไฟฟ้าในหัวใจเสื่อมสภาพหรือผิดปกติ
       
       17. สาเหตุจากการเสียสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหัวใจและหลอดเลือด
       
       18. ภาวะเสียเลือดจากหัวใจอุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง
       
       19. โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
       
       20. เนื้องอกในห้องหัวใจ
       
       21. ลิ้นหัวใจตีบรุนแรง
       
       22. ภาวะที่มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจมาก และมีการกดการทำงานของหัวใจ
       
       23. ภาวะเสียเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจแตก หรือมีการฉีกขาดรุนแรง
       
       24. มีลิ่มเลือดใหญ่ไปอุดตันเส้นเลือดในปอด
       
       25. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงมากเกินไป
       
       • การรักษา
       
       ผู้ป่วยที่มีประสบการณ์กับตนเองรวมถึงคนใกล้ชิดผู้ป่วยจะเกิดความวิตกกังวลสูญเสียความมั่นใจ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดจะเป็นลมหมดสติอีกเมื่อไร
       
       ดังนั้น ผู้ที่เคยมีอาการวูบ ควรเข้ารับการตรวจรักษาเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและหาหนทางแก้ไข แม้จะมีเพียง 75% ของคนที่เคยมีอาการวูบที่หาสาเหตุได้ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอย่างน้อยอาการวูบก็เป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย
       
       • อาการเตือนเป็นลมหมดสติ
       
       บางคนก่อนจะเป็นลมหมดสติ จะมีอาการเตือนนำมาก่อน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง อยากถ่าย เหงื่อแตก ตัวเย็น ถ้าเป็นจากโรคหัวใจอาจมีใจสั่นนำมาก่อน หรืออาจไม่มีอาการเตือนเลยก็ได้ ขณะหมดสติอาจมีอาการเกร็ง กระตุกได้ ซึ่งอาจทำให้สันสนกับโรคลมชัก
       
       ● ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
       เมื่อกำลังจะเป็นลมหมดสติ
       
       เมื่อเริ่มมีอาการ ให้หาที่พักเกาะยึดไว้ และซอยเท้า เพื่อให้เลือดกลับสู่หัวใจได้มากขึ้น ถ้ายังไม่บรรเทา ให้นั่งลง และถ้ายังไม่ดีขึ้นให้นอนราบเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น และจะสามารถป้องกันการเป็นลมได้ รวมทั้งยังลดการเกิดการบาดเจ็บหากล้มกระแทกพิ้นหรือวัตถุอื่นๆ
       
       ถ้าขับรถอยู่ ควรจอดทันที แล้วปรับที่นั่งให้อยู่ในท่านอนราบ ถ้าอยู่ในรถโดยสารควรหาที่นั่ง/นอนในรถ แล้วรีบแจ้งคนรอบข้างว่ากำลังจะเป็นลม ไม่ควรรีบลงจากรถ เพราะอาจหมดสติตรงทางลง ทำให้เกิดอันตรายได้
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)




ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th