วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ไขปมกระเบื้องหลังคาก่อมะเร็ง ค้นคำตอบจากต้นกำเนิดแดนรัสเซีย

เหมืองแร่ไครโซไทล์ที่เมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย
                                          


เมื่อไม่นานมานี้ มีประเด็นร้อนที่ถูกจุดขึ้น เมื่อกลุ่มสมัชชาสุขภาพ และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมกันผลักดันให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอให้รัฐบาลสั่งห้ามการนำเข้าแร่ใยหินทุกชนิด โดยอ้างว่า อาจเป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด ซึ่งขณะนี้ เรื่องได้บรรจุอยู่ในวาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว
       
       ประเด็นดังกล่าว กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้บริโภคทุกคน เนื่องจากหนึ่งในแร่ใยหิน คือ แร่ไครโซไทล์ (Chrysotile) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต “กระเบื้องมุงหลังคา” ดังนั้น หากสารดังกล่าวเป็นอันตรายจริง หมายถึง ภัยมะเร็งกำลังครอบอยู่บนหัวเราทุกคนนี่เอง 
       
       อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ ยังไม่ได้บทสรุปอย่างเป็นทางการ ในมุมผู้สนับสนุนที่อยากให้คงใช้แร่ไครโซไทล์ต่อไป ทั้งผู้ผลิตแร่ชนิดนี้ และผู้ผลิตสินค้าที่ใช้แร่ไครโซไทล์เป็นส่วนผสม ต่างออกมายืนยันหนักแน่น ว่า แร่ดังกล่าวไม่ได้เป็นอันตรายดั่งถูกกล่าวหา
       
       เมื่อมีทั้งกลุ่มค้าน และสนับสนุน วิธีหาความจริงที่ดีประการหนึ่ง คือ เสาะหาข้อมูลเชิงประจักษ์จากต้นกำเนิดที่เหมืองแร่ของบริษัท Orenburg minerals ในเมืองยาสนี (YASNY) ประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแร่ใยหินไครโซไทล์สำคัญที่สุดของโลก 



Mr.ANDREY GOLM
                                                    



@@@ แจงไม่พบข้อมูลแพทย์ชี้ชัดภัยอันตราย @@@
       
       Mr.ANDREY GOLM ผู้บริหารสูงสุดของโรงงาน Orenburg minerals ให้ข้อมูล ว่า บริษัทก่อตั้งมากว่า 50 ปี ผลิตแร่ไครโซไทล์ กว่า 5 แสนตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 25 ของตลาดโลก ส่งขายทั้งในรัสเซีย และส่งออกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และ ไทย เป็นต้น
       
       ที่ผ่านมา ไม่เคยมีข้อมูลทางการแพทย์ใดๆจากทั่วโลก ชี้ชัดอย่างเป็นทางการ ว่า แร่ไครโซไทล์เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง นอกจากที่สถาบันวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (the International Agency for Research on Cancer) ภายใต้ World Health Organization (WHO) จะกำหนดว่า เป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็ง หากได้รับในปริมาณมาก หรือระยะเวลานานติดต่อกันเกินไป ซึ่งเหมือนกับสารอื่นๆ จำนวนมากที่มนุษย์สัมผัสในชีวิตประจำวัน เช่น เบนซิน แอลกอฮอล์ บุหรี่ ปลาเค็ม ยาคุมกำเนิด ฯลฯ อย่างไรก็ตาม WHO ไม่ได้สั่งห้ามใช้ แต่เห็นควรให้มีการใช้แร่ไครโซไทล์อย่างปลอดภัย 

                                         แร่ไครโซไทล์ที่สกัดออกมาแล้ว

นอกจากนั้น แร่ไครโซไทล์ จะไม่ตกค้างในปอดหากหายใจเข้าไป เพราะจะถูกกรดในร่างกายย่อยสลายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนำแร่ไครโซไทล์ ไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นเรื่องยากมากๆ ที่สารจะหลุดออกมาจากผลิตภัณฑ์ โอกาสที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย 




@@@@ ฟันธง กลุ่มค้านหวังผลเชิงธุรกิจ @@@@
       
       Mr.ANDREY เผยด้วยว่า แรงจูงใจของกลุ่มค้านที่ต้องการให้เกิดการห้ามส่งออกและนำเข้าแร่ไครโซไทล์ เพราะต้องการผลประโยชน์เชิงธุรกิจ เนื่องจากแร่ชนิดนี้มีคุณสมบัติเส้นใยที่ดีที่สุด ไม่มีสารใดๆ ในโลกทดแทนได้ โดยจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงแก่วัตถุที่นำไปผสม ป้องกันความร้อน และราคาถูก อีกทั้ง ปัจจุบันในโลกนี้ มีแหล่งทรัพยากรแร่ชนิดนี้แค่ 4 แห่ง ได้แก่ แคนาดา 1 แห่ง บราซิล 1 แห่ง และรัสเซีย 2 แห่ง (เหมืองในเมืองยาสนี สามารถขุดมาใช้ได้อีกประมาณ 150 ปี โดยปัจจุบันทางรัสเซียกำลังสำรวจเหมืองใหม่อีก 11 แห่ง)ดังนั้น เมื่อไม่สามารถผลิตสินค้าที่ดีกว่ามาแข่งขันได้ แนวทางที่จะกำจัดคู่แข่ง จำเป็นต้องให้เกิดการห้ามใช้สินค้าชนิดนั้น 

บรรจุและลำเลียงส่งออกต่างประเทศ
                                                    


 สำหรับผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามให้เกิดการห้ามใช้แร่ไครโซไทล์ คือ เอ็นจีโอที่มีนายทุนชาติยุโรปหนุนหลัง ซึ่งจะได้รับผลประโยชน์ จากการขายเส้นใยเทียม และเส้นใยสังเคราะห์ เพื่อมาใช้ทดแทนแร่ไครโซไทล์ ซึ่งมีราคาสูงกว่า 3-5 เท่าตัว รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์ และเครื่องจักรต่อเนื่องเพื่อมาทดแทน ซึ่งมูลค่าการตลาดมหาศาล โดยประเทศไทยเป็นเพียงสมรภูมิเล็กๆ ในการเคลื่อนไหวเท่านั้น ที่ผ่านมา กลุ่มนี้ได้พยายามคัดค้านในหลายๆ ประเทศ และจะเคลื่อนไหวไปยังประเทศอื่นๆ ที่ใช้แร่ไครโซไทล์ต่อไป
       
       อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้พยายามหาแนวทางชี้แจงข้อเท็จจริง ผ่านกลไกตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ บริษัท รัฐบาลรัสเซีย และ รัฐบาลไทย ที่ประกอบด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องอันตรายจากแร่ไครโซไทล์

ขั้นตอนการสกัดแร่ไครโซไทล์ออกจากหิน
                                          

ภายในโรงงานของบริษัท Orenburg minerals
                                         


 @@@@ ยาสนีเมืองคู่เหมืองแร่ไครโซไทล์ @@@@
       
       ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจจริง เมืองยาสนีเป็นเมืองเล็กๆ มีประชากรประมาณเพียง 16,000 คน อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศรัสเซีย เขตแดนติดประเทศคาซัคสถาน ชาวเมืองใช้ชีวิตเงียบสงบ และผูกพันกับเหมืองแร่ไครโซไทล์ของบริษัท Orenburg minerals ชนิดแยกกันไม่ออก โดยที่ตั้งของเหมืองอยู่ห่างจากศูนย์กลางชุมชนเพียงไม่กี่กิโลเมตร ชาวเมืองส่วนใหญ่มีรายได้ทั้งทางตรง และทางอ้อม จากการทำเหมืองแร่ อีกทั้ง สิ่งปลูกสร้างที่ใช้กระเบื้องมุงหลังคาทั้งหมดของเมืองนี้ ล้วนใช้ผสมของแร่ไครโซไทล์ 
       
       แม้ว่า จะอยู่ใกล้ชิดกับเหมืองแร่ดังกล่าว ทว่า นับแต่ก่อตั้งเมืองแห่งนี้เมื่อ ค.ศ.1961 ยังไม่เกิดปัญหาประชากรเป็นโรคมะเร็งปอดสาเหตุจากแร่ชนิดนี้เลย แนวโน้มค่าเฉลี่ยของประชากรยังเพิ่มขึ้นทุกปี

บรรยากาศบริเวณศูนย์กลางเมืองยาสนี
                                         


นอกจากนั้น จากการพูดคุยกับชาวเมืองยาสนีหลายๆ คน ท่วงทำนองจะออกมาคล้ายกัน ว่า ไม่รู้สึกกังวลปัญหาสุขภาพ เนื่องจากครอบครัวตั้งแต่บรรพบุรุษล้วนอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ และไม่เคยมีปัญหามะเร็งปอด รวมถึง ยืนยันที่จะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเล็กๆ อันเงียบสงบแห่งนี้ตลอดไป

       
       @@@@ “โอฬาร” ชี้แบนกระทบกระเบื้องราคาพุ่ง @@@
       
       ด้านนายอุฬาร เกรียวสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กระเบื้องโอฬาร จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์กระเบื้อง “โอฬาร” เผยว่า ในประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ไครโซไทล์กว่า 32,000 ตันต่อปี ร้อยละ 90 นำไปเป็นส่วนผสมในการทำกระเบื้องมุงหลังคา ขนาด 4 มิลลิเมตร ส่วนอีกร้อยละ 10 ใช้เป็นส่วนผสมในการทำผ้าเบรก และท่อซีเมนต์ ซึ่งจะใช้แร่ไครโซไทล์เป็นส่วนผสมเพียงแค่ร้อยละ 8 เท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้กระเบื้องเพิ่มความแข็งแรง อายุใช้งาน 30-50 ปี รวมถึง ป้องกันความร้อน และต้นทุนต่ำ สามารถขายได้ในราคาถูกแผ่นละ 25-30 บาท
       
       ทั้งนี้ ประเทศไทย มีการใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีส่วนผสมแร่ไครโซไทล์มากว่า 50 ปี เท่าที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฏว่า เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปอด

นายอุฬาร เกรียวสกุล เจ้าของธุรกิจกระเบื้อง ตรา "โอฬาร"
    
    ทว่า หากห้ามใช้แร่ไครโซไทล์ เปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่น ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องมุงหลังคาแบบหนา หรือวัสดุทดแทน อย่าง PVA หรือเยื่อกระดาษ ราคากระเบื้องต่อแผ่นจะขยับเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1-3 เท่าตัว อีกทั้งในมุมผู้ประกอบการต้องลงทุนเพิ่มในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรกว่า 30-50 ล้านบาทต่อเครื่อง และที่สำคัญ จะกระทบต่อผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้น้อย เช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งจำเป็นต้องใช้กระเบื้องราคาถูกในการทำฟาร์มเลี้ยง หากต้องเปลี่ยนไปใช้กระเบื้องราคาสูง ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
       
       @@@@ แบนแร่ไครโซไทล์ คำตอบสุดท้ายจริงหรือ? @@@
       
       ปัจจุบัน แร่ไครโซไทล์ถูกใช้ในอุตสาหกรรมกรรม 114 ประเทศ มีจำนวน 48 ประเทศห้ามใช้ ส่วนใหญ่เป็นแถบยุโรป ซึ่งทั้งหมดยังไม่มีข้อมูลชัดเจนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น รวมถึง ยังมีกรณีฟ้องร้องทั้ง “ห้ามใช้” และ “ยกเลิกการห้ามใช้” ในหลายๆ ประเทศ
       
       จากกรณีต่างๆ ในต่างประเทศ ต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทย ประการแรก รัฐบาลต้องมีข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายยอมรับ ยืนยันได้ว่า แร่ชนิดนี้เป็นอันตรายก่อให้เกิดมะเร็งปอดอย่างแท้จริง เพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือการค้า หรือเอื้อประโยชน์ให้คนเพียงบางกลุ่ม ประการต่อมา หากเป็นอันตรายจริง รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับ ในการเปลี่ยน และทำลายกระเบื้องมุงหลังคาที่มีส่วนผสมแร่ไครโซไทล์ ซึ่งประเทศไทยใช้มาแล้วกว่า 50 ปี คาดว่า จะมีจำนวนกว่า 17.34 ล้านหลังคาเรือน
       
       ฉะนั้น การตัดสินใจเฉพาะแค่สั่งห้ามใช้แร่ชนิดนี้ อาจจะง่าย และแก้ที่ปลายเหตุเกินไป ทว่า หากมองข้อมูลให้รอบด้าน โดยมีมาตรฐานควบคุมการใช้ที่ถูกต้อง และปลอดภัย ภายใต้การติดตามอย่างเข้มงวดใกล้ชิด อาจจะเป็นคำตอบที่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย 
       
       @@@@@@@@@@@



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th :
10 พฤษภาคม 2555 09:21 น.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น